“หมอยง” เผย “ไข้หวัดใหญ่” กำลังระบาดหนัก ส่วนใหญ่พบเป็นไข้หวัดใหญ่ A ขณะที่ “กรมควบคุมโรค” แนะ 7 แนวทางป้องกัน
วันที่ 4 กรกฎาคม 2567 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความเกี่ยวกับสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ที่กำลังระบาดอย่างหนัก โดยระบุว่า
“ขณะนี้มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ค่อนข้างมาก โดยส่วนใหญ่พบเป็นไข้หวัดใหญ่ A มากกว่าไข้หวัดใหญ่ B โดยไข้หวัดใหญ่ A ที่พบบ่อยคือ H1N1 2009 มากกว่า H3N2”
ในขณะที่ กรมควบคุมโรคได้แนะนำประชาชนให้ปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งยังสามารถป้องกันโรคโควิด-19 เชื้อ RSV และโรคติดเชื้อระบบหายใจอื่นๆ ที่มีแนวโน้มการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ ดังนี้
- หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ รวมถึงเช็ดทำความสะอาดพื้นผิวและสิ่งของที่มีคนสัมผัสบ่อยๆ เช่น ลูกบิดประตู ของเล่น
- ใส่หน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในที่สาธารณะหรือกิจกรรมที่มีคนรวมตัวกันมาก
- เมื่อไอหรือจาม ต้องใช้ผ้าหรือกระดาษทิชชูปิดปากและจมูกทุกครั้ง
- กลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค หญิงตั้งครรภ์ โรคอ้วน เด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี ผู้พิการทางสมอง ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป โรคธาลัสซีเมีย และภูมิคุ้มกันบกพร่อง ควรรับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อลดความรุนแรงของโรคและการเสียชีวิต
- โรงเรียนควรคัดกรองเด็กก่อนเข้าเรียนทุกเช้า หากพบอาการไข้ ไอ หรือจาม ควรให้นักเรียนใส่หน้ากากอนามัย และให้ผู้ปกครองมารับกลับไปรักษาที่บ้าน
- ผู้ป่วยควรหยุดเรียน หยุดงาน พักรักษาตัวเป็นเวลา 3-7 วัน หรือจนกว่าจะหายเป็นปกติ และสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง และหากอาการไม่ดีขึ้นควรพบแพทย์โดยเร็ว
- หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ หรือหากจำเป็นต้องอยู่ใกล้ ควรปิดปากปิดจมูกด้วยหน้ากากอนามัย ไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน ใช้ช้อนกลาง และหลีกเลี่ยงไปยังสถานที่ที่มีคนพลุกพล่านหรือแออัด
ทั้งนี้ หากผู้ป่วยมีอาการไม่ดีขึ้น เช่น หอบเหนื่อย ซึมลง หรือรับประทานอาหารได้น้อย ควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422.
#ข่าวทั่วไป